สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับผม Dr.UBA กันอีกครั้งนะครับ วันนี้ ผมมีบทความดีๆ มาให้อ่านกันอีกแล้ว ซึ่งบทความนี้อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ของ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร นะครับ

วันนี้ Dr.UBA จะพาทุกท่านมาหาคำตอบกันว่า น้ำเสียในบ้าน มาจากไหน ท่านผู้อ่านเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างหรือไม่ว่า สารเคมีที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เรานิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ หลังจากที่เราราดน้ำเพื่อไล่ให้มันลงท่อน้ำทิ้งแล้ว มันจะไปสะสมอยู่ที่ไหน และไปสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร? และมันอยู่ที่ไหนบ้าง?

 

 

-  ห้องครัว ถือเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมการบริโภคเกือบทั้งหมด นักสิ่งแวดล้อมถึงกับกล่าวว่า กิจกรรมภายในห้องครัวมีส่วนในการทำร้ายน้ำมากที่สุด น้ำเสียที่ออกมาจากห้องครัวเต็มไปด้วยสารพิษฆ่าแมลงจากการล้างพืชผัก คราบไขมัน และเศษอาหารจากการล้างจานหรือล้างเนื้อสัตว์ ซึ่ง เจ้า "คราบไขมัน" มันเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้น้ำเน่าเสีย เนื่องจากการจับตัวกันเป็นแผ่นลอยอยู่บนผิวน้ำ ปิดกั้นมิให้ออกซิเจนในอากาศผ่านลงสู่น้ำ จึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำเน่าเสีย

 

 

-  ห้องน้ำ เวลาที่เราไปจับจ่ายซื้อของตามซูเปอร์มาร์เก็ต บรรดาสารเคมีที่เราเลือกหยิบใส่ตระกร้า ด้วยความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพตามที่โฆษณาอวดอ้าง ส่วนใหญ่มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับห้องน้ำ ที่ใช้อยุ่ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน อีกทั้งพวกครีมนวดผม ครีมโกนหนวด โฟมล้างหน้า และอีกมากมาย จำพวกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสุขภัณฑ์หลากหลายยี่ห้อ เต็มไปด้วยสารเคมีที่ผู้ผลิตทุ่มใส่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทั้งเพื่อแต่งสี กลิ่น หรือคุณภาพด้านอื่นให้น่าใช้มากขึ้น ในการเข้าห้องน้ำเพื่อชำระล้าสงร่างกายครั้งหนึ่ง หากเราใช้สารพัดสารเคมีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ลองคิดดูสักนิดสิว่าแหล่งน้ำจะต้องรับภาระหนักเพียงใด

 

 

ที่ร้ายกว่านั้น พวกน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ และพื้นผิวพวกกระเบื้องเคลือบในห้องน้ำยิ่งส่งผลต่อแหล่งน้ำมากกว่าเจ้าผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้นเสียอีก โดยเฉพาะน้ำยาขัดพื้นจะมีส่วนผสมของสารโซเดียมออกไซเลต นอกจากจะทำลายเยื่อจมูกของผู้ใช้แล้ว เมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำ ยังทำให้สัตว์น้ำตายและลดจำนวนลง เนื่องจากไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ

 

-  ห้องอื่น ๆ ความจำเป็นในการใช้สารเคมีในส่วนอื่นๆ ของบ้าน นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีพวกสารกำจัดมด แมลงสาบ หนู หรือสัตว์อื่นๆ ที่มารบกวน รวมถึงการใช้สารเคมีเพื่อจุดประสงค์อื่นภายในบ้านอีก เช่น การใช้นำยาทำความสะอาดกระจก น้ำยาขัดเงา น้ำยาล้างท่อ น้ำยาถูพื้น เป็นต้น ซึ่งสารพิษต่างๆ เหล่านี้ เมื่อถูกปล่อยลงสุ่แหล่งน้ำ มีผลในการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

 

-  สนามหญ้า – สวนครัว สนามหญ้าหน้าบ้าน และสวนหลังบ้านที่เราปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือพืชสวนครัวไว้นั้น บางครั้งนอกจากการให้น้ำ ยังมีการเพิ่มอาหารหรือปุ๋ยให้พืชเหล่านี้ด้วย ถ้าบ้านไหนใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกก็จะมีปัญหามลพิษน้อย แต่ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ตามไปด้วย เพราะเมื่อรดน้ำก็จะชะเอาสารเคมีที่อยุ่ในปุ๋ยปนเปื้อนมากับน้ำ ทำให้น้ำเสีย

 

- ลานซักล้าง บริเวณนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการใช้น้ำมากเช่นกัน เรามักจะใช้ลานเอนกประสงค์เพื่อซักผ้า หรืออาจใช้ล้างจานด้วยนั้น น้ำทิ้งจากการซักผ้า ก่อให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ เพราะฟอสเฟตที่อยู่ในผงซักฟอก (เพื่อแก้ความกระด้างของน้ำ จะทำให้เกิดฟอง) เมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำ จะเป็นปุ๋ยให้แก่พืชน้ำจำพวกผักตบชวาได้เป็นอย่างดี เมื่อพืชน้ำเหล่านี้ตายลง แบคทีเรียน้ำต้องการออกซิเจนจำนวนมากเพื่อย่อยให้มันสลายตัวตามธรรมชาติ แต่เมื่อออกซิเจนในน้ำถูกดึงไปใช้ในการย่อยสลายพืชน้ำหมด จึงทำให้น้ำเน่าเสีย

 

 

ขอขอบคุณ

ที่มาของบทความ จาก : http://203.155.220.174/modules.php?name=News&file=article&sid=147

 

รูปประกอบอ้างอิง จาก : http://1.bp.blogspot.com , http://2.bp.blogspot.com, http://www.siamrath.co.th